อยากขายของออนไลน์แต่ไม่รู้จะขายอะไรดี ไม่รู้ว่าควรจะเริ่มต้นยังไง ขายแล้วจะมีคนมาซื้อไหม ต้องไปหาแหล่งซื้อสินค้าราคาส่งจากที่ไหน ปัญหาสุดฮิตของคนที่อยากเป็นพ่อค้าแม่ค้ามือใหม่
แจกสูตรคิดทีละขั้นแบบไม่ฟุ้ง สำหรับคนที่อยากขายของออนไลน์ ฉบับอัพเดต 2022 พาเริ่มวางแผนไปทีละขั้นตั้งแต่หาสิ่งของที่อยากขาย พาเช็คเทรนใหม่ๆ ที่มาแรง, หากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ, หาแหล่งซื้อสินค้าราคาส่งราคาถูกจากที่ไหน, ควรลงขายในช่องทางไหนบ้าง, คำนวณต้นทุนเพื่อตั้งราคาขายให้ได้กำไร ไปจนถึงแนะนำช่องทางชำระเงิน และเลือกบริษัทขนส่ง พร้อมแนะนำทริกไม่ลับ ขายของออนไลน์ให้ปัง ให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำเรื่อยๆ
ขั้นที่ 1 ช่วงนี้กำลังอินกับอะไร หรืออะไรที่กำลังมาแรง
การหาของที่อยากขาย อาจจะเริ่มจากสิ่งที่ตัวเองชอบ กำลังอิน หรือเป็นสิ่งที่ทำได้ดี เพราะถ้าเริ่มจากสิ่งที่ชอบแล้วก็จะมีพลังใจในการพัฒนา อดทน และอยู่มันได้นานกว่า
หรือถ้าไม่มีสิ่งที่ชอบเป็นพิเศษอาจจะมองหาสิ่งที่กำลังฮิตเป็นเทรนอยู่ในขณะนี้ แล้วมาคิดดูว่าจะสามารถต่อยอดขายอะไรได้บ้างจากสิ่งนั้น และที่สำคัญต้องดูด้วยว่าเงินทุนที่ตัวเองมีนั้นเพียงพอกับสิ่งที่ต้องการขายหรือไม่
แนะนำวิธีเช็คเทรนใหม่ๆ
- ใช้งาน Google Trend การใช้งานเครื่องมือนี้สามารถรู้ได้ว่ามีสิ่งของหรือคำไหนที่กำลังเป็นที่นิยม เพื่อเป็นการเช็คพฤติกรรมของผู้บริโภคว่ามีแนวโน้มเป็นยังไงบ้าง สามารถเลือกช่วงระยะเวลาของเทรนที่สนใจได้
- ใช้งาน Wisesight Trend เพื่อดูเทรนต่างๆ ในโลกโซเชียล จะทำให้เห็นภาพรวมได้ว่าตอนนี้ในแต่ละแพลตฟอร์มมีกระแสอะไรบ้างที่กำลังมาแรง แถมยังเลือกหมวดหมู่ของสินค้าหรือบริการได้ด้วย อาจจะเข้าไปเช็คว่าของที่อยากขาย ในหมวดหมู่เดียวกันกระแสตอนนี้เป็นยังไงบ้าง เข้าไปใช้งานได้ที่ https://trend.wisesight.com/default
ขั้นที่ 2 จะขายใคร ใครคือกลุ่มเป้าหมาย
เมื่อได้คำตอบแล้วว่าอยากขายอะไร คำถามต่อมาก็คือ ลูกค้าคือใคร ในตอนแรกอาจจะต้องวาดภาพลูกค้า หรือกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน เช่น เพศอะไร อายุเท่าไหร่ อาศัยอยู่ที่ไหน การศึกษาเป็นยังไง มีงานอดิเรกเป็นอะไร วันหยุดชอบไปเที่ยวไหน ชอบใช้โซเชียลไหนมากที่สุด
เมื่อภาพของลูกค้าชัดเจนจะสามารถช่วยให้เราหาวิธีการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจนและวางแผนการขายได้ดีขึ้น
ขั้นที่ 3 จะได้สิ่งของนั้นมาขายต้องทำยังไง ติดต่อใคร
ควรจะศึกษาให้ละเอียดรอบคอบว่ามีแหล่งไหนบ้างที่สามารถซื้อสินค้าราคาขายส่งได้ อาจจะพยายามเข้าไปในกลุ่มของคนที่สนใจในแบบเดียวกัน สร้างปฏิสัมพันธ์เพื่อหาคอนเนคชัน จะได้สามารถสอบถามได้ว่าควรติดต่อใคร หรือติดต่อซื้อของที่ไหน
หากต้องการขายสินค้าที่ผลิตเอง ไปจนถึงสินค้างานฝีมือต่างๆ ก็ควรจะวางแผนการติดต่อซัพพลายเออร์ดีๆ เช่น ต้องใช้วัตถุดิบนี้สามารถซื้อจากซัพพลายเออร์เจ้านี้ได้ตลอดเวลาหรือเปล่า มีความเสี่ยงไหม มีการรีวิวจากคนอื่นๆ เป็นยังไงบ้าง เพื่อที่จะได้ติดต่อให้เขาส่งวัตถุดิบให้เราในราคาที่ตกลงกันไว้ได้
ถ้าเป็นของเล็กๆ น้อยๆ สินค้าเบ็ดเตล็ดที่สามารถสั่งซื้อได้ผ่านช่องทางออนไลน์ หรือไปเลือกที่โกดัง ควรจะเช็คราคาให้รอบคอบ เปรียบเทียบหลายๆ ร้านทั้งในออนไลน์และหน้าร้าน หรืออาจจะลองเทียบราคาจากการสั่งมาจากประเทศจีน เพราะบ้างครั้งก็อาจจะได้ราคาที่ถูกกว่าซื้อในไทย
ขั้นที่ 4 ขายช่องทางไหน หรือควรขายทุกช่องทาง
ทุกวันนี้มีช่องทางออนไลน์หลายช่องทางที่สามารถขายของออนไลน์ได้ แต่ควรเลือกขายในช่องทางที่กลุ่มเป้าหมายของเราใช้งานมากที่สุด เพื่อที่จะได้เพิ่มโอกาสในการรับรู้ สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายกว่า และที่สำคัญต้องเลือกช่องทางที่เหมาะสมกับสินค้าที่จะขายด้วย
- Facebook สามารถโพสต์ขายด้วยการสร้างคอนเทนต์ขายผ่านเพจ ขายใน Marketplace หรือโพสต์ขายในกลุ่มของคนที่ชื่นชอบ หรือมีแนวโน้มว่าจะสนใจสินค้านั้นๆ หรืออาจจะทำ Facebook Live ก็ได้
- Instagram ฟีเจอร์เด่นคือการลงรูปสวยๆ ใส่แฮชแท็กที่น่าสนใจ สามารถใช้ Instagram Shopping แท็กสินค้าบนภาพ พร้อมบอกชื่อ และราคาได้อีกด้วย เหมาะกับสินค้าแนวแฟชั่น เน้นตามเทรน
- Line My Shop สามารถเข้าถึงผู้ใช้งานบน Line ได้ง่าย มีระบบแชทที่สามารถช่วยให้ปิดการขายได้ไว รองรับการชำระเงินหลายรูปแบบ ไม่มีค่าคอมมิชชัน แต่อาจจะไม่เหมาะสมสำหรับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการความเป็นส่วนตัวเท่าไหร่นัก
- Lazada, Shopee แฟลตฟอร์มขายของออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด มีสินค้าหลากหลาย มีหลายร้านค้า ข้อดีคือ ลูกค้ามีความมั่นใจในการสั่งซื้อสินค้า ข้อเสียคืออาจจะต้องขายในราคาที่ถูกลง เพราะมีคู่แข่งด้านราคาเยอะ
- Tiktok เน้นการทำคอนเทนต์แบบคลิปวิดิโอสั้นๆ ต้องกระชับ รวดเร็ว และตามเทรนให้ทัน
ขั้นที่ 5 เช็กราคาต้นทุน คำนวณราคาทุน เพื่อตั้งราคาขาย
การคำนวณต้นทุนต้องคำนวณให้ละเอียดรอบคอบ โดยต้องคำนวณทั้งต้นทุนผันแปร ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนค่าทำการตลาด, ต้นทุนค่าอุปกรณ์การส่ง, ต้นทุนค่าส่งต่อชิ้น และต้นทุนคงที่ต่างๆ เพื่อที่จะได้ราคาที่เป็นจุดคุ้มทุนในการขายสินค้า จากนั้นค่อยคำนวณว่าต้องขายสินค้าราคาชิ้นละเท่าไหร่ให้ได้กำไร
และอย่าลืมตั้งราคาเผื่อไว้หากมีการทำโปรโมชั่นด้วย ต้องตั้งราคาเท่าไหร่ให้เมื่อทำโปรแล้วหักทุนต่างๆ ไปแล้วจะไม่ขาดทุน และที่สำคัญอย่าลืมคิดค่าแรงของตัวเองลงไปด้วย เพราะหลายคนมักจะมองข้ามคิดว่ากำไรที่ได้ คือค่าแรงของตัวเอง
ขั้นที่ 6 การเก็บเงิน การจัดส่ง ควรทำยังไง
ควรมีช่องทางชำระเงินที่หลากหลาย ถ้าขายผ่านเว็บไซต์อย่าง Lazada, Shopee, Line my shop ก็ไม่น่าเป็นห่วง ถ้าขายผ่าน Instagram, Facebook, Tiktok อาจจะต้องมีการชำระเงินให้ครอบคลุม เช่น โอนเงินเข้าบัญชี, พร้อมเพย์, ทรูมันนี่วอลเล็ต
ส่วนการจัดส่งต้องพิจารณาให้ดีทั้งในเรื่องของราคา และการบริการของขนส่ง เพราะบางบริษัทราคาถูกแต่มักมีปัญหาส่งของช้า ทำของชำรุดเสียหาย ซึ่งอาจจะทำให้ลูกค้าไม่ประทับใจได้ ไปจนถึงอาจทำให้ขาดทุนในหลายๆ ออเดอร์ได้เลย
ขั้นที่ 7 บริการหลังการขายเป็นสิ่งสำคัญ
สิ่งสำคัญคือเมื่อขายสินค้าได้เรียบร้อยแล้ว ควรมีการติดตามสอบถามความคิดเห็นของลูกค้า อาจจะทำการแชทไปสอบถามว่าได้รับสินค้าครบเรียบร้อยหรือเปล่า หรือขอให้ลูกค้ารีวิวให้ เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถนำไปสร้างเป็นเครดิตที่ดีของร้านในอนาคตได้
เคล็ดไม่ลับขายของออนไลน์ ทำตามนี้ปังแน่นอน
- ถ่ายรูปสินค้าให้น่าสนใจ การมีรูปถ่ายที่สวยงามจะทำให้สามารถดึงดูดลูกค้าได้มากขึ้น แถมยังช่วยให้ร้านมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นอีกด้วย
- ลงรายละเอียดสินค้าให้ครบถ้วน โดยเฉพาะราคา รายละเอียดของสินค้าต้องลงให้ครบถ้วน อย่าคิดว่าถ้าสงสัยให้ลูกค้ามาทักมาสอบถามเอง และที่สำคัญต้องลงราคาให้ชัดเจน ถ้าสินค้าดี ราคาโดนใจ ยังไงลูกค้าก็ซื้อแน่นอน
- ตั้งชื่อสินค้าด้วยคำที่คิดว่าลูกค้าจะเสิร์ช การตั้งชื่อสินค้าแบบนี้จะทำให้ลูกค้ามีโอกาสเห็นสินค้าของเรามากขึ้น เช่น กระเป๋าตังค์ สไตล์เกาหลี สีพาสเทล เพราะลูกค้ามักจะมีรูปแบบของสินค้าในใจอยู่แล้วเลยจะค้นหาตามคีย์เวิร์ดที่ต้องการ
- ทำ Loyalty Program ทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำได้ง่ายๆ ด้วยการทำรอยัลตี้โปรแกรม เช่น อาจจะเป็นสะสมแต้ม สะสมยอดการสั่งซื้อ หรือให้ส่วนลดเมื่อลูกค้าแนะนำเพื่อนให้มาซื้อ
- จัดกิจกรรมแจกของรางวัล ควรจัดกิจกรรมแจกของรางวัลเพื่อให้ลูกค้าได้ร่วมสนุก ซึ่งการทำแบบนี้นอกจากจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าเก่าแล้ว ยังมีโอกาสที่จะได้ลูกค้าใหม่ๆ เพิ่มจากการแชร์กิจกรรมอีกด้วย
คัมภีร์ขายของออนไลน์ ที่พาคิดทีละขั้นแบบนี้ น่าจะช่วยให้พ่อค้าแม่ค้ามือใหม่ที่สนใจอยากขายของออนไลน์มองภาพการทำธุรกิจออนไลน์ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น อาจจะดูยุ่งยากซับซ้อนไปบ้าง แต่ถ้าได้เริ่มลงมือทำด้วยความตั้งใจและความชอบแล้วคงไม่ยากเกินความสามารถแน่นอนครับ