ชีวิตของคนเรามีขึ้นและมีลง คงไม่มีใครเลยในโลกนี้ที่ไม่เคยเจอวิกฤตเกิดขึ้นกับตัวเอง แต่คุณรู้ไหมว่าช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี่แหละที่จะเป็นบททดสอบว่าใจเราแข็งแกร่งพอหรือไม่ วิกฤตทางการเงินก็เช่นกัน เป็นปัญหาที่จะวนมาให้ปวดหัวทุก ๆ รอบหลายปี วิธีการแก้ไขปัญหาทางการเงินจึงเป็นสิ่งที่เราควรศึกษาไว้แม้จะเป็นช่วงเวลาที่เงินทองคล่องมือก็ตาม เพราะใครจะรู้ว่าปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และจะรุนแรงแค่ไหน สำหรับคนที่กำลังประสบปัญหาลองนำเคล็ดไม่ลับ 6 วิธีนี้ไปใช้ เชื่อว่าจะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นได้ไม่มากก็น้อย
เนื้อหา
-
ระบุปัญหาให้ชัดเจน
ในช่วงเวลาที่เกิดปัญหา เรามักพบว่าหัวสมองตีบตัน เกิดความเครียด คิดอะไรไม่ค่อยออก ขอให้คุณรู้ไว้ว่าช่วงเวลานั้นแหละคือเวลาที่คุณจะต้องปลีกตัวออกมาขบคิด ขั้นแรกจึงเป็นการระบุปัญหาให้ได้ว่าเกิดจากอะไร การรู้ปัญหาและสาเหตุการเกิดเท่ากับว่าคุณได้แก่ปัญหาสำเร็จไปแล้วเกือบครึ่ง อย่างที่กล่าวกันให้ได้ยินบ่อย ๆ ว่าต้อง “เกาให้ถูกที่คัน” การไม่รู้สาเหตุของปัญหาที่แท้จริงแล้วพยายามแก้ไข อาจทำให้เรื่องราวแย่ไปกว่าเดิมก็เป็นได้ หากคุณต้องการเวลาคิด ลองปลีกวิเวก เช่น เดินในสวนเพียงลำพังสักครึ่งวัน ไอเดียดี ๆ อาจเกิดขึ้นแบบคาดไม่ถึง
2. กำหนดงบประมาณในการแก้ปัญหา
ในการแก้ไขปัญหาทางการเงิน นอกจากสมองแล้วบางครั้งเงินและทรัพยากรที่มีอาจจำเป็นในการแก้ไขปัญหาแม้แต่ระดับคนทำงานธรรมดา ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณถูกบริษัทเลิกจ้างกะทันหัน ส่งผลให้คุณตกงานทันที การจะหางานใหม่ไม่ง่ายยิ่งในช่วงเวลาวิกฤตการเงิน คุณจึงจำเป็นต้องจัดเตรียมเงินสำรองไว้สำหรับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าเช่า ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ เช่น อาจตั้งงบไว้สัก 6-12 เดือน ในขณะเดียวกันก็มองหาทางเลือกอื่น ๆ ไว้ด้วย
3. ถึงเวลาวางแผนการใช้จ่าย
ในช่วงเวลาที่คุณประสบปัญหาทางการเงิน การรู้จักใช้เงินให้เป็นสำคัญมาก เพราะเราไม่รู้ว่าปัญหาจะจบลงตรงไหน และจะจบลงเมื่อไหร่ ถึงแม้ว่าการมองโลกในแง่ดีจะเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่เราก็ต้องไม่ลืมที่จะมอง Worst Case Scenario หรือสถานการณ์เลวร้ายที่สุดไว้ด้วย ดังนั้นคุณจึงต้องตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น หรือมีความสำคัญน้อยกว่าออกไปให้ได้มากที่สุด เน้นแค่ว่าต้องอยู่ให้รอดให้ได้นานที่สุดก่อนสิ่งอื่นใด และอย่าลืมลำดับความสำคัญของการใช้เงินด้วย จ่ายสิ่งที่ต้องใช้ก่อน
4. หากเป็นไปได้ กำจัดหนี้ซะ
คุณต้องทำข้อนี้ถ้าคุณคิดจะแก้ไขปัญหาทางการเงิน แม้ว่าการจ่ายหนี้จะเป็นเรื่องยากในเวลาที่คุณลำบากอยู่แล้ว แต่การปล่อยให้หนี้พอกพูนจนจ่ายไม่ไหวอาจทับถมให้คุณจมดินหนักขึ้นไปอีก โดยเฉพาะดอกเบี้ยที่ไม่เคยหยุดวิ่งแม้ว่าคุณจะไม่ได้ทำงานแล้วก็ตาม ดังนั้นคุณจึงควรปิดหนี้โดยเฉพาะที่มีดอกเบี้ยสูงมาก เช่น บัตรเครดิต บัตรเงินสด จะได้มีความคล่องตัวทางการเงินมากขึ้น และพยายามอย่าก่อหนี้เพิ่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่คุณเองก็ไม่แน่ใจว่าจะหาเงินมาใช้คืนได้หรือไม่
5. สร้างทัศนคติเชิงบวก
ไม่มีใครหรอกที่ในชีวิตนี้ไม่มีปัญหาเลย เหมือนพระอาทิตย์ที่เมื่อมีขึ้นก็ย่อมมีตก คุณควรคิดซะว่าเดี๋ยวมันก็ผ่านพ้นไป อนาคตที่สดใสจะกลับมาอีกครั้ง ขอแค่เรายังมีชีวิตอยู่ อย่างไรเสียจะต้องมีวันนั้นแน่ ๆ การสร้างทัศนคติในเชิงบวกจะทำให้เราโฟกัสไปกับการแก้ปัญหาในวันข้างหน้า มากกว่าจะจมปลักอยู่กับสิ่งแย่ ๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว และจะยิ่งกัดกร่อนกำลังใจที่มีน้อยอยู่แล้วให้น้อยลงไปอีก
6. หมั่นทบทวนสถานการณ์
ในระหว่างที่เราแก้ปัญหาด้านการเงินอยู่ เราควรสำรวจสถานการณ์เป็นระยะด้วยว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้มีทิศทางเป็นอย่างไร และที่สำคัญคือ เรากำลังเดินมาถูกทางหรือยัง โดยอาจทำทุกสองอาทิตย์หรือทุกเดือน วิธีนี้จะทำให้เราได้มองเห็นทางเลือกอื่น ๆ ด้วยและอาจนำไปสู่ทางออกอื่นที่ดีกว่าก็เป็นได้
แต่สิ่งสำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหาทางการเงินจะเป็นอะไรไม่ได้เลยถ้าไม่ใช่กำลังใจ อย่างที่บอกไว้ หากเพียงเรายังมีชีวิตอยู่ เราก็จะมีวันพรุ่งนี้ และวันต่อ ๆ ไป ไม่มีพายุลูกไหนที่จะพัดตลอดกาล ปัญหาของเราก็เช่นกัน ขอให้คุณอดทน เชื่อมั่น แล้วมันจะผ่านพ้นไปในที่สุด อย่างที่คุณเคยผ่านมาแล้วจนมาถึง ณ จุดนี้